ปลูกส้มโอทองดี 22 ไร่ เน้นผลิตขายตลาดส่งออก พร้อมเผยเคล็ดลับเรื่องการใช้ปุ๋ยและฮอร์โมนในส้มโอ

การทำสวนผลไม้ เช่น สวนส้มโอ ต้นไม้ผลที่จะปลูกจะต้องปลูกขวางตะวัน เพราะจะช่วยระบายลมถ้ามีอากาศร้อน ต้นไม้จะได้รับแสงแดดทั้งเช้าและเย็น มีการเจริญเติบโตที่ดี “ส้มโอ” เป็นไม้ผลอีกชนิดหนึ่งที่เป็นพืชรากตื้นและหากินที่ผิวดิน การเตรียมดินและบำรุงดินจะต้องดี ควบคุมการให้น้ำส้มโออย่างพอเหมาะ เพราะส้มโอเป็นพืชชอบน้ำแต่กลัวน้ำขังแฉะ

หลายคนทราบดีว่า ส้มโอไทยเป็นหนึ่งในโลก โดยเฉพาะพันธุ์ขาวน้ำผึ้งและพันธุ์ทองดี มีตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมา ส้มโอ เป็นไม้ผลที่มีปัญหาเรื่องการตลาดน้อยมาก และเป็นไม้ผลที่ขายได้ราคาดีแม้ว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดพร้อมกันในช่วงฤดูกาล

คุณพงษ์พัน เมืองทอง เจ้าของสวนส้มโอทองดี ที่ผลิตส้มโอเพื่อส่งออก

คุณพงษ์พัน เมืองทอง เจ้าของสวน “เมืองทอง” บ้านเลขที่ 133/3 หมู่ที่ 8 ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตรศ โทร. (089) 267-9764 ตัวอย่างเกษตรกรที่ปลูก “ส้มโอพันธุ์ทองดี” มานาน และปัจจุบันนั้นเน้นผลผลิตส้มโอทองดีเพื่อส่งออกเกือบทั้งหมด เนื่องจากมีราคารับซื้อที่สูงกว่าราคาซื้อขายส้มโอภายในประเทศ แต่ชาวสวนก็ต้องทำผลผลิตส้มโอออกมาให้มีคุณภาพตามที่ผู้ค้าส่งออกต้องการเช่นกัน

ดูแลผิวส้มโอให้สวย

ต้องการให้ผิวส้มโอสวย ต้องคอยฉีดป้องกันเพลี้ยไฟ ไร และเชื้อราทำลาย การผลิตส้มโอเพื่อการส่งออกเรื่องของผิวส้มโอ ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ผิวจะต้องสวยเท่านั้น ส่วนรสชาติก็จะต้องหวานนำเปรี้ยว จึงจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ อย่างแมลงศัตรูที่สำคัญ เช่น เพลี้ยไฟ หากฉีดพ่นอย่างสม่ำเสมอก็ทำให้สามารถควบคุมการระบาดได้ สารป้องกันกำจัดที่นำมาใช้ฉีดพ่นสลับกันไปในแต่ละรอบนั้น เช่น สารอิมิดาคลอพริด เมโทมิล ฉีดพ่นสลับกันไปเพื่อป้องกันแมลงดื้อยา (ใช้เป็นตัวหลักของสวน เพราะสามารถควบคุมแมลงได้กว้าง) ส่วน ไรแดง ก็ใช้ยากลุ่มไพริดาเบน  อีไทออน อามิทราซ ใช้สลับกันไปเพื่อไม่ให้แมลงดื้อสารเคมี

ข้อควรระวังในการใช้สารเคมี ก็ระวังสารเคมีบางชนิดที่ไม่ควรฉีดพ่นช่วงออกดอกจนถึงระยะติดผลอ่อน ซึ่งจะทำให้ผลร่วง เช่น สารอะบาแม็กติน ก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมตรงช่วง สารป้องกันกำจัดเชื้อราทั่วไป ก็จะใช้พวกสารป้องกันเชื้อราทั่วไป เช่น คาร์เบนดาซิม แมนโคเซบ ฉีดสลับกันไป แต่ถ้าช่วงเวลาสำคัญ คือช่วงออกดอก ช่วงติดผลอ่อน ก็จะใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราแบบจำเพาะที่เน้นป้องกันราเข้าทำลายขั้วผลส้มโอ ทำให้ผลส้มโอหลุดร่วงเป็นจำนวนมาก ก็ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง ก่อนดอกบาน-ช่วงติดผลอ่อน ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา กลุ่มโพรพิโคนาโซล+ไดฟีโนโคนาโซล ซึ่งได้ผลดี

ส้มโอทองดี ที่จะส่งออกต้องเน้นการดูแลผิวให้สวย

ตอนนี้ชาวสวนที่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง สวนใหญ่จะใช้รถพ่นสารเคมีอย่างแอร์บัสกันเกือบทั้งหมดเนื่องจากปัญหาแรงงานในการฉีดยา จึงต้องนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทน ซึ่งก็ได้ผลดี เพราะสามารถทำงานได้รวดเร็วในพื้นที่ขนาดใหญ่ ประหยัดไม่สิ้นเปลืองการใช้สารเคมีเลย ฉีดได้ทั่วถึงพอสมควร ซึ่งอย่างที่บอกไว้ว่าสวนส้มโอทองดี 22 ไร่ ตอนนี้ก็จะดูแลกันแค่ 2 คน กับภรรยาเท่านั้นเอง

ผลผลิตต่อไร่ก็อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุของต้นส้มโอ ถ้าอายุ 7-10 ปีขึ้นไป การติดผลก็จะดีมาก ทรงพุ่มก็จะสอดคล้องกับอายุต้นส้มโอเช่นกัน เมื่อทรงพุ่มกว้างใหญ่ย่อมมีโอกาสติดผลได้จำนวนมาก การดูแลรักษา เช่น การใส่ปุ๋ยทางดินจะต้องมีการใส่ให้บ่อยครั้งในหนึ่งรอบปี เนื่องจากนิสัยของส้มโอมักจะชอบปุ๋ย ถ้าได้ปุ๋ยน้อย ต้นก็จะแสดงอาการใบเหลืองต้นโทรม เป็นต้น

ความดกของส้มโอทองดี

ยกตัวอย่าง ปีที่ส้มโอดกมากๆ นั้น 100 ต้น สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากถึง 20,000 ผล ถ้าคูณด้วยน้ำหนักเพียงผลละ 1 กิโลกรัม ก็จะได้น้ำหนักมากถึง 20,000 กิโลกรัม หรือ 20 ตัน ต่อต้นส้มโอ 100 ต้น โดยส้มโอ 1 ไร่ จะปลูกส้มโอได้ประมาณ 33 ต้น ปัจจัยเรื่องของธรรมชาติ เช่นปีที่ผ่านมาอากาศร้อนจัด สภาพอากาศแปรปรวนก็ส่งผลในเรื่องของการออกดอกและการติดผล เป็นต้น

การเก็บเกี่ยวส้มโอ

การเลือกตัดส้มโอทองดี ก็ต้องแล้วแต่ผู้ส่งออก โดยมากก็จะตัดผลส้มโอที่ความแก่ราวๆ 90-95% ผิวผลเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง แต่ผู้ส่งออกบางรายจะให้ตัดส้มโอผิวผลที่ยังเขียวอยู่ ความแก่สัก 80% ซึ่งการตัดส้มส่งออกจะต้องตัดขั้วชิดผลเลย เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเข้าสู่ขั้นตอนการแว็กซ์ผิว และการบรรจุลงกล่อง แต่ถ้าช่วงปลายสุดของการเก็บเกี่ยวตกเกรด ก็จะขายในพื้นที่ให้แม่ค้าทั่วไป หรือส่งออกไปกัมพูชาที่ไม่เน้นเรื่องของผิว แต่เน้นเก็บผลแก่เท่านั้น

การเก็บเกี่ยวส้มโอ ก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยมักจะนับกันช่วงหลังดอกบาน ประมาณ 6.5-8 เดือน ก็จะพิจารณาลักษณะภายนอกประกอบ ก็อาศัยความชำนาญพอสมควรที่จะไม่เก็บเกี่ยวผลส้มโอที่ไม่แก่หรือไม่ได้ตามเงื่อนไขที่ผู้ค้าส่งออกระบุลงมาจากต้นเสียก่อน เช่น การดูผลแก่จัด ให้สังเกตที่ต่อมน้ำมันใสนูนกว้าง ช่องระหว่างต่อมน้ำมันกว้าง กดที่ก้นผล (สะดือ) จะยุบตามแรงกดแล้วพองขึ้นอย่างเดิม น้ำหนักดีเมื่อเทียบกับผลอื่นที่ขนาดเท่ากัน เป็นต้น

ใช้ผ้านุ่มๆ ชุบน้ำหมาดๆ เช็ดทำความสะอาดผิวส้มโอ

การตัดส้มโอลงจากต้นนั้นเป็นช่วงที่สำคัญมาก จะต้องตัดลงมาด้วยความระมัดระวังมาก ไม่ให้ผิวส้มมีรอยหรือร่วงตกพื้น ซึ่งนั่นหมายถึงส้มโอผลนั้นตกเกรดทันที การเก็บก็จะใช้กรรไกรยาวแบบตัดหรือหนีบ  ตัดแล้วมีใบและขั้วติดมาด้วย จะตัดได้ต่ำหรือสูงขึ้นกับความยาวของด้ามกรรไกร แบบนี้จะตัดขั้วผลและหนีบผลติดอยู่กับกรรไกร การใช้กรรไกรแบบนี้ต้องปฏิบัติอย่างนุ่มนวล ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้ส้มโอหลุดออกจากปากหนีบ แล้วร่วงสู่พื้นทำให้เกิดความเสียหาย

การเก็บส้มโอลงจากต้น ตอนนี้ผู้ส่งออกจะช่วยค่าคนเก็บ กิโลกรัมละ 1 บาท เช่น วันนี้ตัดเก็บส้มโอได้ 3,000 กิโลกรัม คนเก็บหรือคนตัดส้มโอซึ่งเป็นเจ้าของสวน ก็จะได้ค่าแรงตัด 3,000 บาท เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกอาชีพยามว่างที่เจ้าของสวนส้มโอออกไปรับจ้างตัดส้มโอที่มีรายได้ต่อวันค่อนข้างสูงทีเดียว แต่คนที่จะยึดอาชีพนี้ก็ต้องใช้ความชำนาญ ประสบการณ์ที่จะต้องตัดส้มลงมาไม่ให้เกิดความเสียหาย ตัดผลส้มโอที่มีความแก่ที่ผู้ส่งออกต้องการ

ราคา ซื้อ-ขาย ส้มโอทองดี

เนื่องจากที่สวนจะเน้นการผลิตส้มโอเพื่อการส่งออกให้ได้มากที่สุด เนื่องจากมีการรับซื้อในราคาที่สูงกว่าตลาดในประเทศเกือบเท่าตัว แต่เกษตรกรก็ต้องดูแลรักษาส้มโอให้ได้คุณภาพ ผิวจะต้องสวย  ยกตัวอย่าง ราคาส้มโอทองดีเมื่อปีที่แล้ว สูงสุดถึงกิโลกรัมละ 90 บาท ทีเดียว แต่ราคาส้มโอทองดีในปีนี้ก็ราวๆ 65 บาท ต่อกิโลกรัม แต่ราคาตลาดในประเทศก็ดีเช่นในปีที่แล้วเหมือนกัน อย่างส้มโอทองดี กิโลกรัมละ 45 บาท ส่วนส้มโอขาวแตงกวา กิโลกรัมละ 50-55 บาท ทีเดียว

การเก็บเกี่ยวผลส้มโอทองดี ก็จะเก็บเกี่ยวผลที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 17 นิ้ว จะได้เป็นส้มโอ เบอร์ 1 ส่วนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16-17 นิ้ว ก็จะเป็นส้มโอ เบอร์ 2 และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า 16 นิ้ว ก็จะเป็นส้มโอ เบอร์ 3 ราคาก็จะถูกลงมาตามขนาด ซึ่งน้ำหนักผลของส้มโอทองดีต่อผล เฉลี่ยก็ประมาณ 1.2-1.3 กิโลกรัม

ส้มโอทองดี ที่รอผู้ค้าส่งออกมารับซื้อ

การกำจัดวัชพืชในสวนส้มโอ

เน้นการตัดหญ้า เนื่องจากสวนส้มโอแห่งนี้ได้ปรับที่จนเรียบ มีระยะปลูกที่ห่างพอสมควร จึงสามารถใช้เครื่องตัดหญ้าแบบติดท้ายรถไถ ตัดหญ้าได้โดยง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าหญ้าแต่อย่างใด ส่วนที่สำคัญที่ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าในสวนส้มโอ เพราะจะมีผลกระทบต่อราก ทำลายรากส้มโอได้ง่าย ซึ่งต่อมาก็จะเป็นรากเน่าโคนเน่า เรื่องของรากส้มโอต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก รากสมบูรณ์ก็จะส่งผลให้ใบสมบูรณ์ ส่งผลให้ออกดอกติดผลได้ดี

ต้องดูแลรักษาใบส้มโอให้ดี

เคล็ดลับเรื่องการใช้ปุ๋ยและฮอร์โมนในส้มโอ

คุณพงษ์พัน ยกตัวอย่างว่า เช่น การใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรต (สูตร 13-0-46) เมื่อนำมาฉีดพ่นทางใบช่วงขยายผล ปุ๋ยสูตรนี้จะช่วยขยายขนาดผลได้เป็นอย่างดี เป็นปุ๋ยที่มีราคาไม่แพง ฉีดพ่นให้ 2-5 ครั้ง ตามความเหมาะสม ซึ่งสามารถเพิ่มฉีดพ่นให้เป็นระยะๆ ตั้งแต่ติดผลอ่อนไปจนถึงขยายขนาดผลได้เลย จะช่วยขยายขนาดผลส้มโอได้เป็นอย่างดี หรือใช้ร่วมกับการฉีดพ่นฮอร์โมนแคลเซียมโบรอนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเน้นการขยายผลให้น้ำหนักผลดี ส้มโอเนื้อจะค่อนข้างตันไม่กลวง และช่วยเรื่องก้นผลแตกด้วย

สวนส้มโอที่เน้นความสะอาด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง

ปุ๋ยทางดิน เน้นใช้ สูตร 8-24-24 เป็นหลัก

คุณพงษ์พัน เล่าว่า ตนเองจะใช้ปุ๋ย สูตร 8-24-24 เพียงอย่างเดียวตลอดระยะเวลาการผลิตใน 1 ปี แล้วใช้วิธีให้น้อยแต่บ่อยครั้ง ทำไมต้องเลือกใช้ปุ๋ยสูตรนี้เป็นหลัก เพราะคงเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่พบว่าใช้แล้วดี สามารถควบคุมการผลิตส้มโอได้ เช่น การสะสมอาหาร การเปิดตาดอก การบำรุงผล และการเพิ่มความหวาน ส่วนที่เพิ่มเติมก็จะปรับเปลี่ยนปุ๋ยทางใบเอา วิธีการใส่ปุ๋ยเคมีโดยเน้นใส่บริเวณรอบๆ ทรงพุ่ม 3 ส่วน อีก 1 ส่วน ให้โรยบนพื้นดินภายในทรงพุ่ม แต่ระวังอย่าใส่ปุ๋ยให้ชิดกับโคนต้นส้มโอ เพราะปุ๋ยจะทำให้เปลือกลำต้นส้มโอเน่าและอาจทำให้ส้มโอตายได้

ส้มโอทองดี ขนาดผลแม้ไม่ใหญ่มาก แต่ข้อดีคือ ออกดอกง่ายและติดผลดก
ช่วงเปิดตาดอกหลังงดน้ำมาเกือบ 1 เดือน จะเปิดให้น้ำจนชุ่ม

สำหรับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่จะใส่ให้แก่ส้มโอนั้น ถ้าสามารถกระทำได้ควรใส่ในช่วงฤดูแล้งหรือฝนไม่ชุกมากนัก จะทำให้ดินร่วนซุย มีการระบายน้ำดี อีกทั้งยังช่วยลดความเป็นกรดของดิน เนื่องจากการใส่ปุ๋ยเคมีด้วย ส่วนเรื่องของการใช้ฮอร์โมน ช่วงส้มโอมีขนาดผลเล็ก ขนาดเท่ามะนาวใหญ่ ให้ฉีดพ่นด้วยจิบเบอเรลลิน ร่วมกับธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม โดยการฉีดพ่นทางใบ 1-2 ครั้ง จะช่วยลดอาการผลแตก ผลร่วง ได้เป็นอย่างดี

มองอนาคตของส้มโอไว้อย่างไร

คุณพงษ์พัน กล่าวว่า เท่าที่ทราบ ส้มโอของไทยนั้นเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ โดยเฉพาะส้มโอทองดีนั้นก็ยังเป็นส้มโอ เบอร์ 1 ในการส่งออกของไทย เป็นพันธุ์ที่ส่งออกมากที่สุดของไทย ส่วนตัวไม่ได้ห่วงเรื่องของตลาดเลย เพราะจีนมีความต้องการสูงมาก มีการรับซื้อจำนวนมากในแต่ละปี แต่ชาวสวนเองต่างหากที่จะต้องทำผลผลิตออกมาให้ได้ตามที่ต้องการ ทำให้ต้นส้มโอติดผลดกและมีคุณภาพเท่านั้น ส้มโอเป็นผลไม้ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเน่าเสียเลย หลังจากที่แว็กซ์ผิวแล้วสามารถเก็บหรือจำหน่ายได้นานนับเดือน หรือจะดึงเวลาในการรอจำหน่ายบนต้นได้นานพอสมควร ในกรณีที่จะรอราคาส้มโอในประเทศถ้าต้องการราคาที่จะขยับสูงขึ้น

สุดท้าย คุณพงษ์พัน เมืองทอง ทิ้งท้ายไว้ว่า การทำสวนส้มโอนั้น ก็ต้องมีการเรียนรู้อยู่เสมอ ต้องรู้การใช้ปุ๋ย ใช้สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงให้ตรงจังหวะและเหมาะสม รู้เป้าหมายว่าเราผลิตส้มโอเพื่อส่งออกก็ต้องมีความประณีตในการดูแลส้มโอให้ได้คุณภาพ เพราะเราต้องการขายส้มโอในราคาที่สูง

ผู้เขียนทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ

เผยแพร่วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ.2560

อ้างอิง https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_15589