โครงการวิจัย รูปแบบการจัดการความรู้พันธุ์ส้มโอนครชัยศรีเพื่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืน

คณะผู้วิจัย

  1. อาจารย์วลัยลักษณ์ อมรสิริพงศ์ หัวหน้าโครงการ
  2. อาจารย์ไพรินทร์ มากเจริญ คณะวิจัย
  3. อาจารย์วัลลี นวลหอม คณะวิจัย
  4. อาจารย์พีรพัฒน์ พันศิริ คณะวิจัย
  5. อาจารย์จิตรภณ สุนทร คณะวิจัย

การศึกษาวิจัยเรื่องรูปแบบการจัดการความรู้พันธุ์ส้มโอนครชัยศรีเพื่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของส้มโอนครชัยศรี องค์ความรู้ด้านการจัดการตนเองเพื่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของส้มโอนครชัยศรี ปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของส้มโอดังกล่าว ข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น รวมถึงการอนุรักษ์ส้มโอนครชัยศรีเพื่อให้ดำรงอยู่คู่กับจังหวัดนครปฐมอย่างยั่งยืนต่อไป

ผลการศึกษาพบว่าส้มโอนครชัยศรีมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานปรากฏหลักฐานการปลูกในประเทศไทยก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ส้มโอนครชัยศรีเริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วไปถึงความเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีและปรากฏชัดว่าที่ปลูกในบริเวณมณฑลนครชัยศรีนั้นจะมีรสชาติโดดเด่นกว่าที่อื่นนั้นเริ่มเป็นที่ประจักษ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา และจนถึงปัจจุบันส้มโอนครชัยศรีหรือส้มโอที่ปลูกในพื้นที่อำเภอนครชัยศรี อำเภอพุทธมณฑลและอำเภอสามพรานบางส่วน ได้รับการยอมรับให้เป็นส้มโอที่มีรสชาติดีกว่าส้มโอที่ปลูกในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยและได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อีกด้วย

สำหรับการจัดการความรู้เกี่ยวกับส้มโอนครชัยศรีนั้นพบในหลายรูปแบบโดยเฉพาะการใช้ภูมิปัญญาดังเดิมของบรรษบุรุษ และประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการเป็นชาวสวนโดยกำเนิดทำให้มีองค์ความรู้ในการดูแลพื้นที่สำหรับเพาะปลูก การเตรียมดินเตรียมน้ำ การบริหารจัดการดูแลสวน รวมถึงดูแลผลผลิตสุดท้ายคือผลส้มโอ จากการศึกษาชาวสวนส้มโอมีองค์ความรู้เหล่านี้เป็นอย่างดี แต่การจัดการความรู้ การถ่ายทอดความรู้ยังเป็นมีข้อจำกัดกล่าวคือชาวสวนส่วนใหญ่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวเฉพาะลูกหลาน หรือเครือญาติที่ทำสวนด้วยกันเท่านั้นเพราะองค์ความรู้บางเรื่อง บางอย่างเป็นเทคนิคในการดูแล การจัดการสวนซึ่งชาวสวนถือว่าเป็นความลับที่ไม่อยากให้คนทั่วไปรู้ทำให้มีข้อจำกัดในการขยายองค์ความรู้ดังกล่าวให้ผู้ที่สนใจทั่วไป หรือนำไปเผยแผ่ถ่ายทอดในวงกว้างได้

ด้านการปัญหาและอุปสรรคในการทำสวนพบว่า ชาวสวนส้มโอประสบปัญหาหลักของการทำสวน อาทิ ปัญหาเรื่องแรงงานและผู้สืบทอด ปัญหาจากภัยธรรมชาติและคุณภาพดิน ปัญหาเรื่องทุน ระยะเวลาของผลผลิต และรายได้ ปัญหาเรื่องที่ดินในการเพาะปลูก รวมถึงปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพส้มโอตามมาตรฐาน GAP เป็นต้น

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*