โครงการวิจัย การศึกษาเอกลักษณ์พันธุ์ของส้มโอพันธุ์ทองดีและพันธุ์ขาวน้้าผึ้ง ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมด้วยเครื่องหมาย AFLP

คณะผู้วิจัย
ดร. เสาวณี คงศรี
รศ.ดร. พงษ์นาถ นาถวรานันต์

ปัญหาสำคัญของการซ่อมแซมสวนส้มโอภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤตการณ์น้ำท่วม ปี พ.ศ. 2554 คือ ขาดแคลนกิ่งพันธุ์ส้มโอ เกษตรกรหลายรายจึงแก้ไขปัญหาโดยการสั่งกิ่งพันธุ์ส้มโอพันธุ์ทองดี และพันธุ์ขาวน้ำผึ้งมาจากแหล่งอื่น เช่น ปราจีนบุรี ชัยนาท สมุทรสงคราม แต่เนื่องจากส้มโอมีความแปรปรวนของสายพันธุ์สูง จึงควรมีการตรวจสอบความถูกต้องของสายพันธุ์ ดังนั้นวัตถุประสงค์ของงานวิจัยในครั้งนี้ เพื่อตรวจสอบเอกลักษณ์ของส้มโอพันธุ์ทองดี และพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของจังหวัดนครปฐม และทำการเปรียบเทียบความเหมือนของลักษณะทางสัณฐานวิทยาและข้อมูลทางพันธุกรรมกับกิ่งพันธุ์ที่เกษตรกรนำมาจากแหล่งอื่น ๆ การตรวจสอบลักษณะทางพันธุกรรมด้วยเครื่องหมาย AFLP พบว่าเครื่องหมาย AFLP จำนวน 10 เครื่องหมาย ปรากฏแถบดีเอ็นเอทั้งหมด 229 แถบดีเอ็นเอ มีแถบดีเอ็นเอที่มีความแตกต่างระหว่างแถบลายดีเอ็นเอ (polymorphic band) จำนวน 48 แถบดีเอ็นเอ โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.8 แถบดีเอ็นเอต่อไพรเมอร์ คู่ไพรเมอร์ที่มีค่าเปอร์เซ็นต์ polymorphism สูงสุด คือ ACT/CACมีค่าเท่ากับ 41.18 % ส่วนคู่ไพรเมอร์ที่มีค่าเปอร์เซ็นต์ polymorphism ต่ำสุด คือ AAG/CAA และ AAC/CAC มีค่า
เท่ากับ 12.50 % เครื่องหมายAFLP จำนวน 10 คู่ไพรเมอร์ มีค่าเปอร์เซ็นต์ polymorphism เฉลี่ยที่ค่อนข้างต่ำ คือ 20.96 % อาจเป็นผลมาจากฐานพันธุกรรมที่แคบของส้มโอทั้ง 2 พันธุ์ การวิเคราะห์จัดกลุ่มและสร้างแผนภูมิต้นไม้เพื่อแสดงความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม พบว่ามีค่าดัชนี ความเหมือน (SI) อยู่ในช่วง 0.80-1.00. ที่ค่าดัชนีความเหมือนเท่ากับ 0.80 สามารถแบ่งกลุ่มส้มโอทั้ง 54 ตัวอย่าง ออกได้เป็น 2 กลุ่มพันธุ์ คือ ส้มโอพันธุ์ทองดีและพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง จากนั้นเมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่ม พันธุ์ทองดี โดยใช้ข้อมูลความแตกต่างของแหล่งที่มาของกิ่งพันธุ์ พบว่าพันธุกรรมของส้มโอพันธุ์ทองดีใน กลุ่มพันธุ์ดั้งเดิมกับกลุ่มที่นำกิ่งพันธุ์มาจากแหล่งอื่น มีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรมกันมาก (SI = 0.99-1.00) สำหรับส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งก็ให้ผลการทดลองที่เหมือนกัน

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*