โครงการวิจัย การประเมินโครงสร้างต้นทุน ผลตอบแทน อัตราส่วนทางการเงิน การประมาณค่าแนวโน้มต้นทุนและผลตอบแทนของการเพาะปลูกส้มโอ ในจังหวัดนครปฐม

คณะผู้วิจัย :
กสมล ชนะสุข
สมพล สุขเจริญพงษ์
ศานติ ดิฐสถาพรเจริญ,
กนกพัชร วงศ์อินทร์อยู่
มินท์มันตา หิรัณย์ณภัทร์

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุน โครงสร้างผลตอบแทน และอัตราส่วนทางการเงินของการเพาะปลูกส้มโอในจังหวัดนครปฐม 2) ใช้เป็นแนวทางการประเมินโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างผลตอบแทน และอัตราส่วนทางการเงินของการเพาะปลูกส้มโอในจังหวัดนครปฐม 3) ประมาณค่าแนวโน้มต้นทุน และผลตอบแทนของการเพาะปลูกส้มโอในจังหวัดนครปฐม 4) ใช้เป็นแนวทางการประมาณค่าแนวโน้มต้นทุน และผลตอบแทนของการเพาะปลูกส้มโอในจังหวัดนครปฐม ผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ เกษตรกรที่เป็นสมาชิกในเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนส้มโอนครชัยศรี ซึ่งประกอบด้วย อำเภอสามพราน จำนวน 21 คน และอำเภอนครชัยศรี จำนวน 28 คน รวมทั้งหมด 49 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุน ผลตอบแทน และอัตราส่วนทางการเงินผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุน โครงสร้างผลตอบแทน และอัตราส่วนทางการเงินพบว่า โครงสร้างต้นทุนในปีที่ 2 มีต้นทุนรวมทั้งหมดต่ำสุดเท่ากับ 29,549.71 บาทต่อไร่ ปีที่ 13 และปีที่ 14 มีต้นทุนรวมทั้งหมดสูงสุดเท่ากับ 47,409.71 บาทต่อไร่ ปีที่ 12 และปีที่ 13มีผลผลิตสูงสุดเท่ากับ 4,000 ผลต่อไร่ คิดเป็นรายได้/ผลตอบแทนสูงสุดเท่ากับ 340,000 บาทต่อไร่ โดยปีที่ 12 มีกำไรสุทธิสูงสุดเท่ากับ 292,702.29 บาทต่อไร่ ส่วนโครงสร้างผลตอบแทนพบว่า มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 791,608.35 บาทต่อไร่ อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) เท่ากับ 22.30% และอัตราส่วนรายได้ต่อค่าใช้จ่าย (B/C Ratio) เท่ากับ 2.69 ซึ่งมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน และอัตราส่วนทางการเงินพบว่า ปีที่ 12 และปีที่ 13 มีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นต่อยอดขายสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 99.90 โดยปีที่ 15 มีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อยอดขายสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 86.31 ส่วนปีที่ 4 มีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นต่อยอดขายต่ำสุด คิดเป็นร้อยละ 98.98 และปีที่ 5 มีอัตราส่วน กำไรสุทธิต่อยอดขายต่ำสุด คิดเป็นร้อยละ 8.52

ผลการประมาณค่าแนวโน้มต้นทุนและผลตอบแทนพบว่า วิธีการปรับให้เรียบ
แบบเอกซ์โปเนนเชียลอย่างง่ายเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการประมาณค่าแนวโน้มต้นทุน เนื่องจาก ค่า MAE = 2683.472 ค่า RMSE = 5084.740 และค่า MAPE = 7.006 มีค่าต่ำสุด โดยมีค่าแนวโน้ม ต้นทุนต่ำสุดเท่ากับ 34,441.73 บาทต่อไร่ ส่วนวิธีการปรับให้เรียบของ Holt พบว่าเป็นวิธีที่เหมาะสม สำหรับการประมาณค่าแนวโน้มผลตอบแทน เนื่องจากค่า MAE = 190.108 ค่า RMSE = 320.267 และค่า MAPE = 12.504 มีค่าต่ำสุด โดยมีค่าแนวโน้มผลตอบแทนสูงสุดเท่ากับ 406,152 บาทต่อไร่


คำสำคัญ : ต้นทุน, ผลตอบแทน, อัตราส่วนทางการเงิน, แนวโน้มต้นทุนและผลตอบแทน, ส้มโอ

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*