โครงการวิจัย การศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาและลักษณะผลของส้มโอพันธุ์ ทับทิมสยามและพันธุ์ขาวน้ำผึ้งไต้หวัน ในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม

คณะผู้วิจัย
ดร. เสาวณี คงศรี
รศ.ดร. พงษ์นาถ นาถวรานันต์

ส้มโอนับเป็นพืชเศรษฐกิจอีกหนึ่งชนิดที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในเขตจังหวัดนครปฐม เนื่องจากมีรสชาติที่หวานอร่อย จึงทำให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ด้วยรสชาติที่หวานอร่อยไม่เหมือนกับส้มโอที่ปลูกจากแหล่งผลิตอื่น ส้มโอจากจังหวัดนครปฐมจึงได้รับการขนานนามว่า ส้มโอนครชัยศรี มีอยู่ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง พันธุ์ขาวพวง พันธุ์ขาวแป้น พันธุ์ขาวหอม (ธันยวีร์, 2558) แต่เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 ส่งผลให้พื้นที่ปลูกส้มโอในจังหวัดนครปฐมลดลง โดยเฉพาะในเขตอำเภอนครชัยศรี อำเภอพุทธมณฑล และอำเภอสามพรานบางส่วน พื้นที่ปลูกเสียหายหลายพันไร่ จากพื้นที่ปลูก 4,000 ไร่ ลดลงเหลือเพียง 1,000 ไร่เกษตรกรได้รับความเสียหายประมาณ 200 ล้านบาท ทำให้ผลผลิตส้มโอของจังหวัดนครปฐมลดน้อยลงจนไม่พอจำหน่ายในประเทศ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 2557) หลังจากผ่านพ้นวิกฤตการณ์น้ำท่วม เกษตรกรชาวสวนส้มโอเร่งฟื้นฟูพื้นที่ ซึ่งได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม แต่ปัญหาสำคัญของการซ่อมแซมสวนส้มโอ คือ ขาดแคลนกิ่งพันธุ์ส้มโอพันธุ์ดี ที่มีคุณภาพดีดังเดิม (สำนักข่าวประชาสัมพันธ์นครปฐม, 2557) เกษตรกรหลายรายตัดสินใจปลูกส้โอพันธุ์อื่นทดแทนส้มโอพันธุ์ทองดี และขาวน้ำผึ้ง เช่น พันธุ์ทับทิมสยาม และส้มโอขาวน้ำผึ้งไต้หวัน เนื่องจากหากิ่งพันธุ์ได้ง่ายกว่าส้มโอพันธุ์ทองดี และพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง

จากการลงพื้นที่เพื่อสอบถามเกษตรกรถึงสาเหตุของการเลือกกิ่งพันธุ์ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามมาปลูกทดแทนพันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง หรือปลูกแซมในสวน บนพื้นที่จังหวัดนครปฐม เนื่องจากส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามมีราคาขายต่อผลมีราคาสูง หากซื้อในพื้นที่ ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช ราคาขายหน้าสวนอยู่ที่ขนาดไซซ์ ราคาเริ่มต้นที่ 300-500 บาท/ผล (พลังเกษตร, 2558) พื้นที่ปลูกส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีประมาณ 400 ไร่ พื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้วประมาณ 100 ไร่ อีกทั้งผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริ, 2555) ปัจจุบันส้มโอทับทิมสยามมีตลาดเพิ่มมากขึ้นโดยส่งขายในกรุงเทพมหานคร และส่งออกไปประเทศสิงคโปร์ จีน ไต้หวัน และมาเลเซีย (เดลินิวส์, 2555; เทคโนโลยีชาวบ้าน, 2556) ในขณะที่เกษตรกรบางรายในพื้นที่อำเภอสามพรานขายได้ราคาลูกละประมาณ 300-500 บาท อีกทั้งจากการสังเกตของเกษตรกร พบว่าการเจริญเติบโตของต้นส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามในเขตพื้นที่อำเภอนครชัยศรี และสามพรานนั้น เจริญเติบโตได้ดีและรวดเร็วกว่าพันธุ์ทองดี และพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง จึงทำให้ในขณะนี้เกษตรกรหลายรายในพื้นที่มีความสนที่จะปลูกพันธุส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะปลูกอยู่แซมอยู่ในสวนส้มโอที่มีส้มโอพันธุ์ทองดีและขาวน้ำผึ้งปลูกอยู่ด้วย ในขณะเดียวกันปัญหาที่เกษตรกรในพื้นที่ต้องการทราบ คือ คุณภาพของผลผลิตจะเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์ทับทิมสยามที่ปลูกในจังหวัดนครศรีธรรมราช

งานวิจัยเกี่ยวกับคุณภาพผลของส้มโอทับทิมสยามยังค่อนข้างจำกัด สำหรับดัชนีการเก็บเกี่ยวนั้น พบว่าการเก็บเกี่ยวส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามขี้นอยู่กับอายุของต้นส้มโอและสภาพแวดล้อมในการปลูก โดย วัลดา และคณะ (2558) รายงานว่าส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามในอำเภอปากพนัง จังหวัด นครศรีธรรมราช อายุต้น 4 ปี ควรเก็บเกี่ยวที่ระยะ 160 วัน หลังการติดผล ในขณะที่ต้นที่มีอายุ 7 ปีควรเก็บเกี่ยวที่ระยะ 220 วันหลังการติดผล เมื่อพิจารณาจากสีเนื้อ ปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ และปริมาณกรดทั้งหมดที่ไตเตรทได้

สำหรับส้มโอขาวน้ำผึ้งไต้หวันนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงแหล่งที่มาของสายพันธุ์ เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ส้มโอที่นำเข้าจากประเทศไต้หวัน มีหลากหลายสายพันธุ์ แต่เหตุผลที่เกษตรกรบางรายในพื้นที่อำเภอสามพราน ตัดสินใจปลูก เนื่องจากหากิ่งพันธุ์ได้ง่าย เมื่อปลูกไปแล้วพบว่าต้นเจริญเติบโตได้ดีและรวดเร็ว ให้ผลผลิตเร็ว ใช้เวลาในการปลูกเพียงแค่ 2 ปี ก็สามารถเก็บผลจำหน่ายได้ แต่ปัญหาที่สำคัญ คือ เรื่องความสับสนในสายพันธุ์ เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ขาวน้ำผึ้งและขาวน้ำผึ้งไต้หวันได้เมื่อพิจารณาเพียงแค่ลักษณะผลภายนอก ดังนั้นเมื่อซื้อส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งไต้หวันไปรับประทาน โดยเข้าใจผิดว่าเป็นส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งแล้ว พบว่ารสชาติและเนื้อสัมผัสไม่เหมือนเดิม โดยแนวทางในการแก้ไข จำเป็นที่จะต้องศึกษาเปรียบเทีบกับส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งว่ามีลักษณะภายนอกและคุณภาพผลภายใน เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรกับพันธุ์ขาวน้ำผึ้งไต้หวัน เพื่อจะได้เป็นข้อมูลเบื้องต้นแก่ผู้บริโภค และปูองกันการสับสนในสายพันธุ์

จากปัญหาในเรื่องสายพันธุ์ใหม่ที่เกษตรเกษตรนำเข้ามาปลูกในพื้นที่อำเภอนครชัยศรี และสามพราน การทดลองครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์คือ 1) ศึกษาศักยภาพการผลิตส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามและพันธุ์ขาวน้ำผึ้งไต้หวันในเขตพื้นที่อำเภอนครชัยศรี และอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และ 2)ศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ของส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งไต้หวัน

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*