โครงการวิจัย บูรณาการนวัตกรรมการวิจัยส้มโอเพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของจังหวัดนครปฐม

คณะผู้วิจัย

  1. รองศาสตราจารย์ชลีรัตน์ พยอมแย้ม ที่ปรึกษา
  2. นายทิม ไทยทวี ที่ปรึกษา
  3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเดช นิลพันธุ์ หัวหน้าโครงการ
  4. อาจารย์ ดร.อัมรินทร์ อินทร์อยู่ รองหัวหน้าโครงการ
  5. รองศาสตราจารย์ ดร.พงษ์นาถ นาถวรานันต์ รองหัวหน้าโครงการ
  6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชรศักดิ์ อาลัย รองหัวหน้าโครงการ

ในปัจจุบันพื้นที่ปลูกส้มโอในจังหวัดนครปฐมลดน้อยลงเป็นอย่างมากสืบเนื่องมาจากปัญหา หลายประการ โดยเฉพาะในปี 2554 ที่เกิดอุทกภัยน้ำท่วมซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้พื้นที่ผลิตส้มโอเกิดความเสียหายอย่างมากโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกส้มโอเขตอำเภอนครชัยศรี และอำเภอสามพราน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกส้มโอที่สำคัญ และเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographic Index, GI) ของจังหวัดนครปฐม การลดลงของพื้นที่ปลูกส้มโอยังเกิดจากการขาดแคลนเกษตรกรรุ่นใหม่ การขยายพื้นที่เมือง สภาพแวดล้อมเสื่อมลง เนื่องจากใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีทางการเกษตรมากเกินไปติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่นในจังหวัดนครปฐม มีพันธกิจเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นปัญหาทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอในจังหวัด จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการงานวิจัย จากหลากหลายมิติและศึกษาองค์ความรู้จากหลายๆ ด้านเพื่อสร้างนวัตกรรมงานวิจัยนำมาใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเชิงบูรณาการ จึงดำเนินการทำโครงการวิจัยเรื่อง “บูรณาการนวัตกรรมการวิจัยส้มโอเพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของจังหวัดนครปฐม” โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุน การวิจัย (สกว.) มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อพัฒนาระบบ และกลไกการจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ในการบริหารจัดการงานวิจัยรวมทั้งเชื่อมโยงงานวิจัยให้เกิดประโยชน์กับการเรียนการสอน และบริการวิชาการของมหาวิทยาลัย 2. เพื่อพัฒนานวัตกรรมการผลิตส้มโอประกอบด้วย การตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ส้มโอบรรจุภัณฑ์การค้าปลีก สารสนเทศภูมิศาสตร์ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการเปลี่ยนแปลงใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ปลูกส้มโอ 3. พัฒนานักวิจัยเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัย

ผลการดำเนินงานด้านระบบ และกลไกการจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ในการบริหารจัดการงานวิจัย รวมทั้งเชื่อมโยงงานวิจัยให้เกิดประโยชน์กับการเรียนการสอน และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ได้ผลการดำเนินการ คือ 1. ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยแบบเดิมที่มีความล่าช้าให้มีความสะดวก และรวดเร็ว โดยที่สามารถตรวจสอบติดตามการบริหารจัดการของระบบใหม่แบบ สกว. 2. จัดตั้งศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืนใน 5 คณะ เพื่อเป็นระบบกลไกในการขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงพื้นที่ 3. มีการลดขั้นตอนกาส่งข้อมูลด้านการวิจัยโดยการส่งข้อมูลทำใน 2 ลักษณะ คือแบบไม่เป็นทางการ โดยผ่านกลุ่มไลน์ (Line Group) และแบบเป็นทางการ โดยผ่านบันทึกข้อความ ทำให้การสื่อสารด้านข้อมูลวิจัยมีความรวดเร็ว การเบิกจ่ายงบประมาณทุนวิจัยเมื่อเอกสารครบ จะเห็นได้ว่าจากระบบเดิมจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน ในการที่อาจารย์จะได้รับทุนในการดำเนินงานวิจัย ในขณะที่ระบบใหม่ใช้เวลาประมาณ 1 วัน ผลการดำเนินงานด้านการเรียนการสอน มีการนำนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานวิจัย และผลการดำเนินการด้านการบริการวิชาการ เกษตรกรอยากทราบคุณสมบัติของดิน มหาวิทยาลัยจึงดำเนินให้บริการการตรวจความอุดมสมบูรณ์ของดิน

ในปีงบประมาณ 2558 มีโครงการวิจัยย่อยทั้งหมด 13 โครงการ โดยมี 8 บทความที่นำ ผลการวิจัยไปตีพิมพ์ และนำเสนอผลงานวิจัยปีงบประมาณ 2558 ดังนี้ มี 1 บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีที่ 37 ฉบับที่ 5 หน้า 539-544 ปี 2015 ชื่อเรื่อง Endogenoushormonal status in pummel fruitlets cultivar Thong Dee: relationship with pre-harvestfruit drop และนักวิจัยได้นำผลงานวิจัยปีงบประมาณ 2558 ทั้งหมด 7 บทความ ไปนำเสนอในงาน The 6th Interdisciplinary Network of the Royal Institute of Thailand (INRIT) Conference2016 จัดโดย สำนักงานราชบัณฑิตยสภา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิสหวิทยาการเพื่อการวิจัยพัฒนา และเครือข่ายสหวิทยาการแห่งราชบัณฑิตยสถานในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ณ IMPACT Forumนนทบุรีในการดำเนินงานปีงบประมาณ 2559 มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดทำประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เรื่อง ผลการพิจารณาการจัดสรรทุนอุดหนุนการวิจัย โครงการ “บูรณาการนวัตกรรมการวิจัยส้มโอเพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของจังหวัดนครปฐม ระยะที่ 2” ปีงบประมาณ 2559 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 เซ็นสัญญารับทุนอุดหนุนการวิจัย โครงการ “บูรณาการนวัตกรรม การวิจัยส้มโอเพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของจังหวัดนครปฐม” ปีงบประมาณ 2559 และเบิกเงินทุนวิจัยงวดที่ 1 70 % ให้นักวิจัยดำเนินการวิจัย

ผลการดำเนินการด้านการพัฒนานวัตกรรมการผลิตส้มโอประกอบด้วย การตรวจสอบ ย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ส้มโอ บรรจุภัณฑ์การค้าปลีก สารสนเทศภูมิศาสตร์ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการเปลี่ยนแปลงใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ปลูกส้มโอ จากการดำเนินงานวิจัยที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่การกำหนดโจทย์วิจัยจะกำหนดจากความถนัด หรือความเชี่ยวชาญของนักวิจัย ทำให้ผลงานวิจัยยังไม่ตอบปัญหาของผู้ใช้ผลการวิจัย แต่ในการดำเนินโครงการวิจัยนี้ ได้มีการจัดโครงการ workshop ขึ้นเพื่อให้เกษตรกรชาวสวนส้มโอเสนอปัญหาที่เกษตรกรประสบอยู่ดำเนินการโดยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรชาวสวนส้มโอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนักวิจัย เพื่อให้ข้อเสนอโครงการวิจัยมีความสอดคล้อง กับข้อเสนอของเกษตรกรที่เห็นปัญหาจริงๆ และคาดว่าจะนำไปสู่พัฒนาการปลูกส้มโอให้มีคุณภาพดีขึ้น และครบทุกมิติตามความเชี่ยวชาญของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ในการดำเนินงานวิจัยปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมาเป็นงานวิจัยที่หาองค์ความรู้พื้นฐาน และในการดำเนินงานวิจัยในปีงบประมาณ 2559 เป็นการนำองค์ความรู้ที่ได้จากปีงบประมาณ 2558มาต่อยอดสู่การวิจัยแบบเป็นนวัตกรรม โดยโจทย์วิจัยในปีงบประมาณ 2559 จมีตรงกับความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์จากโจทย์วิจัย

ผลการดำเนินงานด้านการพัฒนานักวิจัยเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัย โดยก่อนจะเปิดจะรับ สมัครนักวิจัย เข้าร่วมโครงการวิจัยเรื่อง “บูรณาการนวัตกรรมการวิจัยส้มโอเพื่อพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจของจังหวัดนครปฐม” ปีงบประมาณ 2558 ทางมหาวิทยาลัยได้กำหนดให้แต่ละศูนย์วิจัย เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ต้องมีนักวิจัยอาวุสโส เพื่อเป็นผู้นำในการมาดำเนินงานวิจัย และเป็นพี่เลี้ยงให้นักวิจัยหน้าใหม่ และต้องมีนักวิจัยหน้าใหม่ร่วมดำเนินการวิจัยด้วย เพื่อเป็นการพัฒนานักวิจัยหน้าใหม่ของมหาวิทยาลัย โดยในการดำเนินงานวิจัยโครงการวิจัยเรื่อง “บูรณาการนวัตกรรมการวิจัย ส้มโอเพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของจังหวัดนครปฐม” ปีงบประมาณ 2558 มีนักวิจัยทั้งหมด 35 ท่านแบ่งเป็นนักวิจัยอาวุโสจำนวน 14 ท่าน คิดเป็น 40% นักวิจัยหน้าใหม่จำนวน 21 ท่าน คิดเป็น 60% และในปีงบประมาณ 2559 มีนักวิจัยทั้งหมด 25 คน แบ่งเป็นนักวิจัยอาวุโสจำนวน 12 ท่าน คิดเป็น 50%และนักวิจัยหน้าใหม่ 13 ท่านคิดเป็น 50%

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*